Admin Chue
05 May 2023

ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ถึงอังกฤษ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก "สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3"

ในหลวงพร้อมพระราชินี เสด็จฯถึงยังสหราชอาณาจักร ทรงเข้าร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ตามคำทูลเชิญ ตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ดระดมกำลังนับหมื่นนายรักษาความปลอดภัยพระราชพิธี เตรียมบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดห้ามขาดก่อความวุ่นวายขู่โทษถึงคุก สื่อทั่วโลกคาดใจกลางมหานครลอนดอนเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่แห่มาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ขณะที่สำนักพระราชวังอังกฤษเผยขั้นตอนพิธีขึ้นสู่บัลลังก์กษัตริย์ของประเทศที่ครั้งหนึ่งได้รับสมญาว่า “จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตก”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งสำคัญในรอบ 70 ปีของราชวงศ์อังกฤษ กำลังเป็นที่จับตาจากผู้คนทั่วทั้งโลก รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงตระเตรียมความพร้อมการปฏิบัติในทุกขั้นตอนของพระราชพิธีประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมานานนับพันปี โดยเมื่อ เพื่อให้การขึ้นสู่บัลลังก์กษัตริย์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ เวลา 08.03 น. วันที่ 4 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับเครื่องบินพระที่นั่งของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เที่ยวบินที่ TG 8886 เสด็จพระราชดำเนินถึงยังท่าอากาศยานลอนดอน สแตนสเต็ด โดยมีนายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน นายไซม่อน ไบซ์ ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ นายไมเคิล จอห์น ฮอลโลเวย์ ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา สหราชอาณาจักร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

หลังจากมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เฝ้าทูลละออง ธุลีพระบาทรับเสด็จฯ แล้ว ประทับรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน จัดถวาย เสด็จฯไปยังโรงแรมเดอะแลนด์มาร์ก ลอนดอน ซึ่งเป็นโรงแรมที่ประทับ เวลา 10.13 น. เสด็จฯถึงยังโรงแรมเดอะแลนด์มาร์ก ลอนดอน นายณัฐพงศ์ สิทธิชัย อัครราชทูตสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน และคณะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ สำหรับการเสด็จฯ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะทรงร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ตามคำทูลเชิญ โดยจะทรงร่วมงานเลี้ยงพระประมุข ประมุข และผู้แทนประเทศต่างๆที่พระราชวังบั๊กกิ้งแฮม ในวันที่ 5 พ.ค. และทรงร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 6 พ.ค. การเสด็จฯครั้งนี้นับเป็นการเสด็จฯเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับแต่ทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

 

ด้านสำนักข่าวต่างประเทศรายงานบรรยากาศการนับถอยหลังเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ที่จะจัดให้มีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค.ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการประเมินว่าจะมีพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์และนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปใจกลางกรุงลอนดอน เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์พระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ สำหรับเส้นทางตลอดจนพื้นที่จัดงานพระราชพิธี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามารอรับเสด็จฯ ตั้งแต่เวลา 06.00น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ประกอบด้วย เส้นทางจากพระราชวังบั๊กกิ้งแฮม ไปมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งจะผ่านถนนเดอะ มอลล์ จัตุรัสทราฟัลการ์ถนนไวต์ฮอลล์ ถนนรัฐสภา และจัตุรัสรัฐสภา ขณะที่แขกที่ได้รับเชิญร่วมพระราชพิธีจะต้องเข้ารับการตรวจตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่ช่วงเวลา 07.15 น.ถึง 08.30 น. ก่อนเข้านั่งประจำตามที่นั่งที่ถูกจัดสรรไว้ให้ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

ลำดับต่อมาในช่วงเวลา 09.30 น. ถึง 10.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) จะเป็นช่วงสำคัญที่เหล่าพระประมุข ประมุข และผู้แทนของประเทศต่างๆทยอยเข้าสู่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จฯจากพระราชวังบั๊กกิ้งแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ด้วยราชรถพัชราภิเษก ที่สร้างขึ้นในปี 2012 ที่ประเทศออสเตรเลีย เพื่อใช้ในพระราชพิธีฉลองการครองราชย์ครบ 60ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระมหามงกุฎเหนือราชรถพัชราภิเษกแกะสลักจากไม้โอ๊กของเรือหลวงวิกตอรี ด้านในราชรถมีระบบปรับอากาศ ลากจูงโดยม้า 6 ตัว มีทหารม้า 3 นาย ขบวนเสด็จจะไปถึง 10.53 น. และเริ่มพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์อย่างเป็นทางการ ในเวลาประมาณ 11.00 น. ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 17.00น.ตามเวลาในประเทศไทย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมี 5 ขั้นตอน เริ่มด้วยขั้นตอนที่ 1 รับรองฐานะความเป็นกษัตริย์ โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี จะป่าวประกาศว่า สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 คือ กษัตริย์พระองค์ใหม่ ขั้นตอนที่ 2 ทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ เพื่อยืนยันว่าจะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษ ขั้นตอนที่ 3 เจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงถึงสถานะผู้นำทางจิตวิญญาณและความเป็นองค์ประมุขสูงสุดของศาสนจักรอังกฤษ ขั้นตอนที่ 4 การถวายการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียรของกษัตริย์ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ขณะนั้นกองทหารทั่วประเทศจะทำการยิงปืนใหญ่สลุตเป็นจำนวน 6 นัด ลำดับพิธีการสวมมงกุฎนั้น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์จะประทับบนบัลลังก์ราชาภิเษกเซนต์เอ็ดเวิร์ดอายุกว่า 700 ปี ทำจากไม้ ความสูง 2 เมตร รองด้วยศิลาแห่งชะตาลิขิต สัญลักษณ์ของราชบังลังก์สกอตแลนด์และหลังจากพระองค์สวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนที่ 5 สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์จะทรงได้รับการถวายอารักขา อัญเชิญไปประทับบนพระราชบัลลังก์ที่ถูกเตรียมไว้ เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์การปกครองสหราชอาณาจักร หลังจากนั้นจะมีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชินีคามิลลา และการถวายการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรี

พิธีการจะเสร็จสิ้นเป็นทางการในเวลา 13.00 น. สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จฯกลับพระราชวังบั๊กกิ้งแฮม ด้วยพระราชรถเทียมม้าทองคำอายุ 260 ปี หรือ Gold State Coach ถือเป็นราชรถที่มีความเก่าแก่ที่ใช้งานเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 เพื่อเดินทางไปเปิดการประชุมของรัฐสภาในปี ค.ศ.1762 ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ในปี ค.ศ. 1831 ด้านการออกแบบเป็นผลงานของวิลเลียม แชมเบอร์ส และสร้างโดยซามูเอล บัตเลอร์ ข้อมูลจำเพาะของราชรถทองคำ มีความยาว 7 เมตร สูง 3.6 เมตร น้ำหนักราว 4 ตัน โดยบริเวณรอบราชรถมีการตกแต่งเป็นจิตรกรรมบนแผ่นไม้ ปิดด้วยทองคำเปลวบางๆ

บริเวณด้านหน้าของราชรถทองคำมาพร้อมกับรูปสลักไทรทัน (Tritons) ซึ่งเป็นเทพองค์หนึ่งในเทพปกรณัมกรีก โดยเป็นโอรสของโพไซดอน เจ้าสมุทร กับแอมฟิไทรที มารดาแห่งท้องทะเล ทั้งนี้ไทรทันจะทำหน้าที่เป็นผู้แจ้งข่าวแห่งท้องทะเล ลักษณะของร่างกายของไทรทันท่อนบนเป็นมนุษย์ และท่อนล่างเป็นเงือก ขณะที่บริเวณหลังคาเป็นรูปสลักของเทวดาน้อยมีปีก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ รวมกันเป็นสหราชอาณาจักร ส่วนการตกแต่งของห้องโดยสารถูกบุด้วยผ้ากำมะหยี่และผ้าซาติน ตามธรรมเนียมเดิมการใช้งานราชรถทองคำจะถูกใช้ในขบวนเสด็จจากพระราชวังบั๊กกิ้งแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แต่ด้วยความไม่สะดวก ของพระราชพาหนะนี้จึงทำให้ถูกยกเลิกแล้วหันไปใช้ราชรถพัชราภิเษก ที่มีความสะดวกสบายกว่า มีความทันสมัย แล้วนำไปใช้งานในช่วงหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแทน เมื่อถึงพระราชวังพระองค์และสมาชิกราชวงศ์ (ที่ยังทรงปฏิบัติภารกิจให้ราชวงศ์) จะร่วมเสด็จออกมุขพระราชวังบั๊กกิ้งแฮม ทักทายพสกนิกรและทอดพระเนตรฝูงบินเฉลิมพระเกียรติของกองทัพอากาศตามธรรมเนียม

สำนักพระราชวังบั๊กกิ้งแฮมเผยด้วยว่า ในวันที่ 7 พ.ค. หรือ 1 วันหลังพระราชพิธีราชาภิเษก ทางสำนักพระราชวังจะมีการจัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่พสกนิกรตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ 3,754 แห่ง บางแห่งจะมีสมาชิกราชวงศ์เสด็จไปร่วมงานด้วย ส่วนหอนาฬิกาบิ๊กเบน สัญลักษณ์ของกรุงลอนดอน จะจัดแสดงโชว์แสงสีในช่วงเวลา 20.30 - 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นภาพดอกไม้ 4 ชนิดประกอบด้วยดอกดาฟโฟดิล ดอกธิสเซิล ดอกแชมร็อก และดอกกุหลาบ ดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ

สำนักข่าวบีบีซีอังกฤษและเดลีเมล์รายงานว่า สำนักงานตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ดได้ระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 11,500 นาย มารักษาความปลอดภัยงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30,000 นายดูแลความปลอดภัยทั่วกรุงลอนดอนตลอดช่วงสุดสัปดาห์ 6-7 พ.ค. ทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมที่เข้มงวด เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ไปจนถึงสัปดาห์หน้า ผู้ชุมนุมที่กีดขวางการจราจร สนามบิน หรือรางรถไฟจะได้รับโทษจำคุก 12 เดือน ผู้ชุมนุมที่ผูกติดตัวเองไว้กับอาคารสิ่งก่อสร้างจะได้รับโทษจำคุก 6 เดือน และต้องจ่ายปรับเงินตามดุลพินิจของศาล ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีอำนาจในการหยุดตรวจและค้นตัว ผู้ชุมนุม หากสงสัยว่ากำลังเตรียมการที่จะก่อความวุ่นวาย

 

ข้อมูลโดย ไทยรัฐออนไลน์ 5 พ.ค. 2566 05:20 น.

https://www.thairath.co.th/news/royal/2691342