Admin Chue
28 Dec 2020

กศน.บรรจุครู กพด. สนองพระราชดำริ "กรมสมเด็จพระเทพฯ" น้ำพระทัยจากฟ้าสู่ดิน

“เมื่อไหร่ครูของฉันจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ”

พระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราช ดำเนินปฏิบัติภารกิจติดตามตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ในพื้นที่จังหวัดตาก ปี พ.ศ.2554 ยังความปลื้มปีติต่อ นายประเสริฐ บุญเรือง อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประธานที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กศน. ในขณะนั้น และชาว กศน.ทุกคน

“พระองค์ทรงเห็นว่าครูอาสาสมัคร กศน. ใน โครงการ กพด. ถือเป็นครูในโครงการพระราชดำริ ที่พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์จ้างไปปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ไม่ว่าจะบนดอยสูง หรือตามเกาะแก่งห่างไกล พระองค์ยังทรงให้ทุนการศึกษาแก่ครู กพด.ให้ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ห้องเรียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในปี 2551” นายประเสริฐ เล่าถึงความประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

  ต่อมาสำนักงาน กศน.ได้แบ่งเบา ภาระของพระองค์ท่านโดยการตั้งงบประมาณเพื่อจ้างครู กพด.ทั้ง 282 คนทั่วประเทศ เข้าไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งอยู่ แต่ละพื้นที่ไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้า ถนนหนทางสัญจรด้วยความยากลำบาก ทุลักทุเล ยิ่งในช่วงฤดูฝนยิ่งอันตราย เสมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก บางพื้นที่ระยะทางเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางเป็นวันสำหรับ ภารกิจของครู กพด. นอกจากจะให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ให้สามารถอ่านออกเขียนไทยได้แล้ว ครู กพด.ยังเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชาวบ้านในเวลาที่เดือดร้อน ดังนั้น ครู กพด.จึงมีเป้าหมายหลักที่สำคัญในการให้ ความรู้กับเด็กและชาวบ้านในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ การเสริมสร้างสุขภาพอนามัยของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางวิชาการ จริยธรรม และอาชีพ ปลูกจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและชาติไทย ขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน ที่สำคัญพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์บริการความรู้ “ภาพการทำงานของครู กพด.ที่สะท้อนผ่านพระเนตรพระกรรณของพระองค์ท่านด้วยความมุ่งมั่น เสียสละมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่จะตรัสถามผมว่า “เมื่อไหร่ครูของฉันจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ” และถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีต่อครู กพด.อย่างหาที่สุดมิได้ โดยล่าสุดก่อนที่ผมจะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ช่วงกลางปี 2563 ผมสนองพระราชดำริของ กรมสมเด็จพระเทพฯ ในเรื่องดังกล่าวได้สำเร็จ โดยสามารถจัดหาอัตราเพื่อบรรจุครู กพด.ให้เป็นครู กศน.ในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ จำนวน 210 อัตรา ซึ่งจะมีการนำผู้ที่ได้รับการ บรรจุเป็นครูผู้ช่วยครั้งนี้เข้าถวายตัวเพื่อรับใช้เบื้องพระยุคลบาทต่อพระองค์ท่านต่อไป ส่วนครู กพด.ที่เหลืออีก 72 คน ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุนั้น ผมได้หารือ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันได้ช่วยสานต่อพระราชดำริของพระองค์ท่าน ซึ่ง ดร.สุภัทรรับปากจะดำเนินการต่อให้สำเร็จ” นายประเสริฐ ทิ้งท้ายภาพความประทับใจ 

ขณะที่ ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ที่นั่งกุมบังเหียนกำกับหน่วยงาน กศน.โดยตรง ได้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงชาว กศน. ว่า “รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน ต่างมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะสนับสนุน ให้สำนักงาน กศน.สนองงานโครงการพระราชดำริของทุกๆพระองค์ และจะผลักดันให้ครู กศน. และบุคลากรของ กศน.ในทุกๆกลุ่ม ได้มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าหากทุกคนมีขวัญและกำลังใจที่ดีย่อมส่งผลที่ดีต่อการปฏิบัติหน้าที่รับใช้และช่วยเหลือประชาชนในภารกิจต่างๆได้อย่างเต็มที่”

ด้าน นางเกพย์วี่ริณฑ์ มณีโชค ครูผู้ช่วย กศน.ในโครงการ กพด.ที่ได้รับทุนการศึกษากรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อปี 2551 และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “เป็นครูอาสาสมัคร กศน.เข้าไปบุกเบิกจัดการเรียนการสอนที่ศูนย์การเรียนชุมชน (ศศช.) บ้านกองสูง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน คนในพื้นที่ไม่มีใครพูดภาษาไทยได้ ตนพอพูดไทยได้จึงอาสาสมัครเข้ามาเป็นครูเข้าไปช่วยสอน ทุกอย่างเริ่มต้นจากความยากลำบาก แต่ก็ภูมิใจที่ได้เข้าไปสอนให้ชาวบ้านทุกช่วงอายุ รู้สึกปลื้มปีติเป็นอย่างมากที่ได้ทุนกรมสมเด็จพระเทพฯเรียนต่อ ป.ตรี พระองค์ยังมีความห่วงใยถึงขนาดมีพระราชดำริที่ต้องการให้ครู กพด.ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครู ถ้าไม่มีพระองค์ท่านตนก็คงไม่มีวันนี้ และจะสนองงานพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้”

เช่นเดียวกับ นายชัยณรงค์ คำอ้าย ครูผู้ช่วย ศศช.บ้านห้วยเฮียะ จ.แม่ฮ่องสอน เปิดใจว่า “เป็นครูอาสาสมัคร กศน.ในโครงการ กพด. ตั้งแต่ปี 2551 บุกเบิกพื้นที่ตั้งแต่ไม่มีห้องเรียน โดยจะสอนเด็กๆในตอนกลางวัน กลางคืนสอนหนังสือให้กับผู้ใหญ่ด้วยการตระเวนไปตามบ้าน ยอมรับว่าลำบากมาก แต่ไม่เคยท้อเพราะอยากให้ชาวบ้านรู้หนังสือและพูดไทยได้ ทั้งนี้นอกจากการสอนให้อ่านออกเขียนได้แล้ว ยังให้ความรู้ใน 8 เป้าหมายหลักที่สำนักงาน กศน.ได้มุ่งเน้น ตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การส่งเสริมอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ผมเป็นคนในพื้นที่ครอบครัวทำไร่ ทำสวน ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ทุนเรียน ป.ตรี และได้บรรจุเข้ารับราชการ พ่อแม่ญาติพี่น้องต่างดีใจมาก ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของกรมสมเด็จพระเทพฯ ถ้าไม่มีพระองค์ท่านผมก็คงไม่มีวันนี้” เป็นน้ำพระทัยจาก “ฟ้าสู่ดิน” ต่อชาว กศน.อย่างหาที่สุดมิได้.

ภาพและข้อมูล : นางสาวปรานี บุณยรัตน์ และสำนักงาน กศน.

ข้อมูลโดย ไทยรัฐออนไลน์ ฉบับพิมพ์8 ธ.ค. 2563 07:01 น. https://www.thairath.co.th/news/royal/1990327