Admin Chue
31 Jan 2023

กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ยกย่องผู้มีผลงานดีเด่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ โดยผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.ราล์ฟ เอ.ดีฟรอนโซ ศาสตราจารย์สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ

สาขาสาธารณสุข ได้แก่ นพ.ดักลาส อาร์.โลวี รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ดร.จอห์น ที.ชิลเลอร์ นักวิจัยดีเด่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และรองหัวหน้าห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และ ศ.นพ.เอียน เอช.เฟรเซอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์เครือรัฐออสเตรเลีย ทั้งนี้ ศ.นพ.เอียน เอช.เฟรเซอร์ ไม่สามารถมาเข้ารับพระราชทานรางวัลได้ ฯพณฯ แอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้ารับพระราชทานรางวัลแทน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

โอกาสนี้ ศ.นพ.ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกในการได้รับรางวัลนี้ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ ถือว่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ซึ่งตนก็ได้เจริญรอยตามพระองค์ท่าน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาตนได้มีการพัฒนายาใหม่ๆขึ้น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และสร้างศูนย์การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ สำหรับช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ยากไร้ด้อยโอกาส ตนทำงานเรื่องโรคเบาหวานมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1980

โดยที่เบาหวานมีผลต่อคนทั่วโลกประมาณ 42 ล้านคน จนใช้เวลา 15-20 ปีในการจูงใจในความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของโรคเบาหวาน ที่ไม่ใช่แค่ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ แต่ตนมองว่าไม่ใช่เหตุทั้งหมดทีเดียว ตนมองว่าร่างกายอาจจะไม่ตอบสนอง หรือดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินด้วย ดังนั้นในการทำงานถ้าเรามีความเชื่อหรือแนวคิดมีความเชื่อมั่นในบางสิ่งบางอย่างที่เป็นแนวคิดใหม่ๆ ก็ขอให้ยึดมั่นและเดินหน้าต่อไป เพื่อจะนำเอาหลักฐานต่างๆ ข้อยืนยันต่างๆ มาเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

ด้าน นพ.ดักลาส อาร์.โลวี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในครั้งนี้ ในส่วนของการสาธารณสุขเรื่องมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ผู้หญิงเป็นกันเยอะ มีหนทางในการรักษาคือ การฉีดวัคซีน หลังจากที่ได้รับพระราชทานรางวัลครั้งนี้แล้ว หวังว่าในอนาคตทั้งเด็ก และสตรีจะได้รับการฉีดวัคซีนและตรวจรักษามะเร็งปากมดลูก

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเสริมในหลักการทำงานว่าในการทำงาน อันดับแรกคือ มีเพื่อนร่วมงานที่เก่งและมีความสามารถ ซึ่งจะทำให้การวิจัยและผลงานออกมาเป็นที่ยอมรับได้ดี และมีคุณภาพ ประการที่ 2 คือ หาสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นในการที่จะวิจัย ซึ่งตรงนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ

สุดท้าย ดร.จอห์น ที.ชิลเลอร์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติเช่นกันในการเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ด้านมะเร็งปากมดลูก สำหรับประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีน และคัดกรองเพื่อค้นหาโรคในเด็กและสตรี ผู้สูงวัย พร้อมกันนี้ได้กล่าวถึงหลักการทำงานของตนว่า โรคมะเร็งที่ตนได้ทำงานวิจัย ไวรัสก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของมะเร็ง ถ้าเราสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเป็นอันดับแรก โอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อไปก็จะลดน้อยลง เพราะฉะนั้นจะต้องพัฒนาวัคซีนขึ้นมา วัคซีนตัวแรกที่ได้พัฒนาขึ้นมาถือว่าประสบความสำเร็จ ในช่วงแรกมีคนมองอย่างไม่เชื่อมั่นในการวิจัย สุดท้ายคนก็ยอมรับในวัคซีนและประสบผลสำเร็จ.

 

ข้อมูลโดย ไทยรัฐออนไลน์ 30 ม.ค. 2566 06:29 น.

https://www.thairath.co.th/news/royal/2615605